โดเมนเนม (Domain Name) คืออะไร

โดเมนเนม (Domain Name) คืออะไร

โดเมนเนม (domain name) คือชื่อที่เราเอาไปใส่ในช่อง address bar ใน browser เวลาที่เราต้องการจะเข้าไปที่เว็บไซต์อะไรซักอย่าง เช่น starvingceo.com facebook.com google.com พวกนี้เรียกว่า domain name จากนั้น browser ของเราจะเอาชื่อพวกนี้ไปค้นหาในระบบ Domain Name System หรือ DNS เพื่อหา IP (Internet Protocol) Address ของชื่อนั้นๆ เพื่อใช้ระบุตำแหน่งเครื่องคอมพิวเตอร์ของเว็บไซต์ที่เราต้องการ

อ่านถึงตรงนี้บางคนอาจจะเริ่มงงแล้วสินะ 😵 เอาใหม่ๆ ผมจะลองแปลเป็นภาษาง่ายๆโดยเปรียบเทียบกับระบบโทรศัพท์ละกัน 📱 ทุกคนน่าจะมีมือถือกันอยู่แล้ว ในมือถือเราก็จะมีเบอร์ ซึ่งเบอร์แต่ละเครื่องก็จะไม่ซ้ำกัน ถ้าจะให้เราๆมานั่งจำเบอร์ของเพื่อนเป็นร้อยๆคน เราก็คงจำกันได้ไม่หมดจริงไหม 😆 เพื่อให้จำได้ง่ายขึ้นเราเลยบันทึกเบอร์พวกนี้ใส่ phonebook 📕 พร้อมตั้งชื่อให้แต่ละรายการเพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งจำเบอร์ พอเวลาจะโทรออก เราก็แค่หาชื่อคนๆนั้น แล้วมือถือเราก็จะกดเบอร์ให้เอง 🤙

ถ้าอ่านด้านบนเข้าใจละก็ จริงๆแล้วระบบ domain name อะไรนี่ก็เหมือนกันเปะเลยครับ คอมพิวเตอร์หรือ web server 🕸 แต่ละเครื่องจะมีเบอร์ของมันที่เรียกว่า IP address หรือเรียกสั้นๆว่าไอพี ถ้าเราพิมพ์ไอพีถูกต้อง เราก็สามารถเข้าไปที่เว็บนั้นได้เช่นเดียวกับการพิมพ์ชื่อเว็บเลย เช่น ถ้าพิมพ์แบบนี้ลงในช่อง 128.199.208.28 ก็จะเข้าไปที่เว็บ starvingceo.com ได้เหมือนกัน แต่ใครจะมานั่งจำชุดเลขยาวๆแบบนี้ล่ะ เขาเลยสร้างระบบ DNS ขึ้นมาเพื่อใช้โดเมนเนมแทนไอพีนั่นเอง

ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆคือ

  • Web Server เปรียบเสมือนมือถือ 📱
  • IP เปรียบเสมือนเบอร์โทรศัพท์ 🔢
  • DNS เปรียบเสมือน Phonebook 📕
  • Domain Name เปรียบเสมือนชื่อ Contact 👤 ที่เราบันทึกลงใน Phonebook

บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้วใครเป็นคนกำหนดหรือควบคุมการใช้ domain name พวกนี้ จริงๆแล้วมีองค์กรที่จัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะชื่อ ICANN ถ้าสนใจก็ลองคลิกเข้าไปอ่านเพิ่มเติมดู

ส่วนประกอบของ Domain Name

เมื่อเข้าใจหลักการทำงานแล้ว เรามาดูกันต่อว่าโดเมนเนมมีส่วนประกอบอะไรบ้าง

Domain name ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ

  • Name (middle-level domain) คือชื่อด้านหน้า โดยเงื่อนไขคือต้องเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตัวเลข และขีด “-” ตัวเล็กตัวใหญ่ถือว่าเหมือนกัน
  • Extension (top-level domain) คือส่วนต่อท้าย เช่น .com .net

ยกตัวอย่างเช่น google.com name = google, extension = .com

Tips

Extension แต่ละแบบมักใช้กันตามประเภทของเว็บไซต์

  • .com (company) และ .net (network) ใช้กับเว็บไซต์บริษัททั่วไป
  • .org (organization) มักใช้กับองค์กรที่ไม่เสวงหากำไร
  • .edu (education) หรือ .ac (academia) ใช้กับองค์กรการศึกษา
  • .gov (government) ใช้กับองค์กรภาครัฐ

ยังมีโดเมนที่แบบที่เรามักจะเห็นกัน เช่น .co.th, .in.th, .or.th, .ac.th, .go.th พวกนี้คือโดเมนเนมแบบท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีการส่งเอกสารประกอบการจดทะเบียน เพื่อยืนยันว่ามีที่ตั้งที่ประเทศไทยจริงๆ ปกติก็จะใช้หนังสือรับรองกับ ภ.พ.20

ส่วนตัวที่เป็น www. อยู่ด้านหน้า อันนี้เขาเรียกว่า sub-domain ซึ่งเรามาตั้งเองทีหลังได้ยังไม่ต้องซีเรียสตอนนี้

Domain แบบฟรี vs. แบบจ่ายเงิน

บางคนอาจจะเถียงว่า เฮ่ย! ฉันก็มีเว็บไซต์ แต่ฉันไม่เห็นต้องจดโดเมนอะไรเลย ❓ … ใช่ครับ เว็บไซต์ผู้ให้บริการบางเจ้า โดยเฉพาะระบบเว็บไซต์สำเร็จรูปหรือระบบร้านขายของ พวกนี้มักจะให้มาพร้อม sub-domain เช่น myshop.wordpress.com หรือ myshop.wix.com บางทีให้มาเป็น sub-directory เช่น lazada.co.th/myshop หรือ lnwshop.com/myshop

คือมันฟรีก็จริง แต่ถ้าคุณต้องการทำธุรกิจในระยะยาว วิธีแบบนี้มีข้อเสียใหญ่ๆ 2 ประการ ✌ คือ

  1. คุณไม่ได้เป็นเจ้าของ sub-domain นั้น นั่นหมายความว่าถ้าวันหนึ่งคุณต้องการย้ายไปใช้บริการที่อื่น คุณจะใช้ชื่อเว็บเดิมไม่ได้
  2. จำยาก พิมพ์ยาก ขาดความน่าเชื่อถือ ลองคิดดูซิว่าถ้าจาก shopee.co.th กลายมาเป็น shopee.wix.com คุณจะกล้าซื้อรึเปล่า

เราจะเป็นเจ้าของ Domain Name ได้อย่างไร

Domain name ก็เหมือนกับชื่อร้านของเรา ซึ่งแน่นอน เป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกบริษัทที่อยากจะทำธุรกิจออนไลน์ต้องมี โดยเฉพาะถ้าคุณทำธุรกิจออนไลน์ที่ลูกค้าต้องเข้ามาที่เว็บไซต์บ่อยๆล่ะก็ domain name นี่สำคัญกว่าชื่อบริษัทเสียอีก 😮

การจดโดเมนทำได้ 2 วิธี

  1. ซื้อผ่านผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือโฮสติ้ง โดยปกติเว็บไซต์ที่ให้บริการพวกนี้จะมีบริการจดโดเมนด้วย ก็จะได้ความสะดวกสบายเรื่องการเชื่อมโดเมนเข้ากับเว็บไซต์ได้ง่ายกว่า เช่น squarespace.com wix.com รวมถึง lnwshop.com ก็มีบริการจดโดเมนในระบบหลังบ้านเลย
  2. ซื้อผ่านเว็บไซต์ที่รับจดทะเบียน (Domain Name Registrar) จดแบบนี้เราจะต้องมาตั้งว่าให้โดเมนที่เราซื้อมาชี้ไปที่ไอพีไหน ก็จะมีขึ้นตอนเพิ่มเติมนิดหน่อย

ถ้าเอาง่ายๆ ไม่อยากศึกษาเรื่องทางเทคนิคมาก ทำเว็บที่ไหนก็จดซื้อที่นั่นแหละ 👍 แต่ปัจจุบันผมใช้วิธีที่ 2 และส่วนตัวผมก็แนะนำเป็นวิธีที่ 2 นะ เพราะในกรณีที่ต้องเปลี่ยนผู้ให้บริการเว็บไซต์ การปรับให้โดเมนนั้นวิ่งไปที่ผู้ให้บริการรายใหม่จะใช้เวลาเร็วกว่าและราคาค่าจดมักจะถูกกว่า ปกติถ้าทำเองก็ไม่เกิน 1 วัน แต่ถ้าจดผ่านผู้ให้บริการเว็บจะต้องมีขั้นตอนการย้ายโดเมนซึ่งใช้เวลานาน ⌚ และอาจเสียค่าบริการเพิ่มได้ 💲

ก่อนหน้านี้ผมจดที่ godaddy.com จากนั้นย้ายมาจดที่ namecheap.com เนื่องจากราคาถูกกว่านิดหน่อย ต่อมา Google เปิดรับจดโดเมนเอง (domains.google) ผมจึงย้ายมาใช้กับ Google ในปัจจุบัน ส่วนของไทยเคยจดกับ pathosting.co.th และ ruk-com.in.th จากประสบการณ์ไม่เคยมีปัญหากับเจ้าไหนเลย

วิธีการจดซื้อโดเมนเนมของแต่ละเว็บอาจจะมีขึ้นตอนต่างกันเล็กน้อย แต่หลักๆแล้วก็คือลองพิมพ์ชื่อโดเมนที่เราอยากได้เข้าไปในช่องเพื่อตรวจสอบว่ามีคนซื้อไปแล้วยัง ถ้ายัง เราก็สามารถซื้อชื่อนั้นได้ด้วยการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งค่าบริการจะเป็นรายปี ราคาแต่ละ extension จะไม่เท่ากัน

สรุป

ถ้าใครที่มีแผนอยากจะทำเว็บไซต์หรือทำธุรกิจออนไลน์ ก็ลองเข้าไปหาไว้ก่อน เพราะถ้าเป็น .com เดี๋ยวหาซื้อยากแล้ว